โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้เปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2504 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ภายใต้การควบคุมและการบริหารงานของกองโรงพิมพ์ สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรับจัดพิมพ์หนังสือ เอกสารแบบพิมพ์ และเอกสารอื่นๆ ที่ไม่พึงเปิดเผย ของหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะหนังสือราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งการจำหน่ายหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นเอง และรับฝากขายหนังสือทั่วไป

 

 

นายสมเจตน์ มาลารัตน์

อดีตผู้จัดการโรงพิมพ์ฯ

ถ่ายเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกโมโนไทป์

พ.ศ. 2504

 

นายสมศักดิ์ บุญมีพิพิธ

อดีตผู้จัดการโรงพิมพ์ฯ

ถ่ายเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกบล๊อค

พ.ศ. 2504

 

นายประยงค์ ปาณินท์

อดีตผู้จัดการโรงพิมพ์ฯ

ถ่ายเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกการพิมพ์

พ.ศ. 2504

นางสาววรรณา มะระยงค์

อดีตหัวหน้าแผนกขาย

ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2504

 

 

หลังจากนั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จึงได้รับโอนกองโรงพิมพ์และโรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติโอนกิจการบริหารในสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ. 2517 เป็น กองโรงพิมพ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2517 เป็นต้นมา

 

โดยในระยะเริ่มแรก กองโรงพิมพ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ใช้ระบบการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรส ทำการเรียงพิมพ์ด้วยมือ และหล่อตัวพิมพ์เพื่อใช้เองด้วยเครื่องโมโนไทป์ ซึ่งนอกจากการพิมพ์หนังสือราชกิจจานุเบกษาเป็นหลักแล้ว ยังมีงานประจำอื่นๆ เช่น ดำเนินการจัดพิมพ์ อนุสาร อ.ส.ท. หนังสือ Thailand Illustrated หนังสือสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น

 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายในการจัดพิมพ์หนังสือเพื่อเผยแพร่เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประซาธิปไตยและการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของไทย จึงมอบหมายให้กองโรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการจัดพิมพ์หนังสือดังกล่าว เช่น นิตยสารเอกลักษณ์ไทย หนังสือชุดแผ่นดินไทย และในปีเดียวกันนั้นรัฐบาลยังได้ทำการออกหนังสือพิมพ์รายวัน โดยใช้ชื่อว่า "หนังสือพิมพ์เจ้าพระยา" เพื่อใช้สำหรับเผยแพร่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและผลงานต่างๆ ของรัฐบาล ให้แก่ประชาชนทั่วไป และได้มีการก่อสร้างอาคารสำนักงานกองบรรณาธิการเพื่อใช้สำหรับการดำเนินการกิจการหนังสือพิมพ์ดังกล่าวขึ้นภายในบริเวณที่ตั้งของกองโรงพิมพ์ เรียกกันว่า "อาคารเจ้าพระยา" ซึ่งกิจการของ "หนังสือพิมพ์เจ้าพระยา" ดำเนินการอยู่ได้เพียงระยะหนึ่งจึงได้หยุดกิจการลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520

 

นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการ กองโรงพิมพ์ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานที่มีขีดความสามารถในการปฏิบัติงานสูงกว่าภารกิจที่มีอยู่ มีลักษณะการดำเนินการที่อาจบริการให้แก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานได้มีอิสระในการบริหารงาน มีความคล่องตัว อีกทั้งเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถพัฒนาคุณภาพงานในการบริการให้แก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และประชาชนทั่วไป อันจะเป็นประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง รวมทั้งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และมีความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐเพิ่มมากขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2549 อนุมัติให้แปลงสภาพหน่วยงาน โดยมี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้แปลงสภาพกองโรงพิมพ์สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็น สํานักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา (หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ) พ.ศ. 2549 เรียกโดยย่อว่า "สคร." ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Cabinet and Royal Gazette Publishing Office" เรียกโดยย่อว่า "CGPO" มีการบริหารงานที่เป็นไปในลักษณะ “หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit: SDU)” และยังคงมีสถานะเป็นกิจการและเป็นส่วนหนึ่งของสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี